วันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553

Graphic Design



  • ก่อนอื่นมารู้จักคำว่า กราฟิก (Graphic) กันก่อน
    คำว่า กราฟิก (Graphic) ที่มักเขียนผิดเป็น กราฟิกส์ กราฟิกส์ กราฟิก นั้น มีรากศัพท์มาจากคำว่า "Graphikos" ในภาษากรีก แปลว่า การวาดเขียน หรือ คำว่า "Graphein" ที่แปลว่า การเขียน ซึ่งมีผู้ให้นิยามไว้หลายลักษณะ ดังนี้
    - ศิลปะอย่างหนึ่งที่แสดงออกทางความคิดโดยการใช้เส้น รูปภาพ ไดอะแกรม ฯลฯ
    - การสื่อความหมายด้วยภาพวาด ภาพสเก็ชแผนภาพ ภาพถ่าย ที่ต้องอาศัยศิลปะและศาสตร์เข้ามาช่วย เพื่อให้ผู้ดูเกิดความคิดและตีความหมายได้ตรงตามที่ผู้สร้างสรรค์ต้องการสื่อ
    - โสตทัศนวัตถุที่ผลิตขึ้นเพื่อแสดงสัญลักษณ์หรือความหมายของสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทำให้ผู้ดู มองเห็นความจริง หรือความคิดอันถูกต้องชัดเจนจากกราฟิกส์นั้นๆ
    - การพิมพ์ การถ่ายภาพ และการทำหนังสือ
    โดยสรุป กราฟิก หมายถึง ศิลปะแขนงหนึ่งซึ่งใช้สื่อความหมายด้วยเส้น สัญลักษณ์ รูปวาด ภาพถ่าย กราฟ แผนภูมิ การ์ตูน ฯลฯ เพื่อให้สามารถสื่อความหมายข้อมูลได้ถูกต้องตรงตามที่ผู้สื่อสารต้องการ

  • Web Graphic Designer คือ นักออกแบบเว็บไซต์ ฟังก์ชั่นในการทำงานคือ การออกแบบหน้าเว็บเพจ ซึ่งในกรณีที่ได้อยู่บริษัทใหญ่ๆ จะมีการแบ่งประเภทงานชัดเจน คนออกแบบหน้าเว็บก็ออกแบบแต่หน้าตาไม่ต้องลงลึกว่าจะ Active ยังไง Link ไปไหน ใช้ Program อะไร Support ฯลฯ (ตำแหน่งที่ต้องลงลึกในส่วนนี้จริงๆ มีชื่อว่า Programmer ซึ่งจะต้องเรียนเกี่ยวกับการเขียน Program มา ไม่ใช่ เรียนนิเทศศาสตร์หรือนิเทศศิลป์--เพิ่มเติม คนที่ชอบจริงๆหรือสนใจศึกษาด้วยตนเองก็สามารถทำได้เหมือนกันเพียงแต่แนะนำว่าเวลาจะเลือกเรียนนั้น ถ้าอยากเป็น Programmer ก้เลือกให้ถูกซะตั้งแต่เนิ่นๆ) แต่ถ้าไปอยู่บริษัทเล็กๆ ก็เห็นควรเป็นอย่างยิ่งว่าจะต้องเพิ่มความสามารถด้านโปรแกรมให้มากขึ้น หลากหลายโปรแกรมมากขึ้น เช่น Flash / Dreaweaver / Image Ready เป็นต้น ยิ่งถ้าสามารถเขียนระบบ E-commerce ได้ก็จะเป็นที่ต้องการมากขึ้น

  • Animator นักออกแบบอนิเมชั่น หรือ ภาพเคลื่อนไหว (ส่วนใหญ่จะออกแนวการ์ตูน ดังนั้นผู้สนใจควรมีความสามารถในการเขียนการ์ตูน) ผู้ออกแบบงานประเภท Flash Animation ตามมือถือและเว็บไซต์ต่างๆก็รวมอยู่ในประเภท Animator เช่นกัน ในปัจจุบันวงการโฆษณาก็หันมาใช้ Animation ประกอบในหนังโฆษณามากขึ้น ในอนาคตนักออกแบบอนิเมชั่นคงจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในอนาคต สำหรับสตูดิโอที่ดังๆ ด้านนี้ คือ Kamtana Animation (ผู้สร้าง จ๊ะทิงจา กะ ก้านกล้วย นั่นแหละ) และ Vithita Animation (ผู้สร้าง ปังปอนด์ อนิเมชั่น - -นอกเรื่อง เดิมทีปังปอนด์เป็นเพียงการ์ตูนตอนหนึ่ง ต่อมาถีบตัวเองขึ้นมาฉายเดี่ยวและพัฒนาเป็นปังปอนด์อนิเมชั่นในที่สุด โอ...โตไวจริงๆ--) และสำหรับผู้ที่สนใจเรียนด้านนี้โดยตรงก็แนะนำให้ไปเรียนที่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.รังสิต ภาควิชา Computer Art จะดังสุดและมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมใช้มากที่สุด
  • Motion Graphic Designer นักออกแบบภาพเคลื่อนไหว งงอ่ะดิ๊ ว่าต่างจาก Animator ตรงไหน ต่างกันตรงที่ Motion Graphic จะเป็นนักออกแบบที่ทำงานกราฟิกประกอบภาพยนตร์นั่นเอง บริษัทที่มีชื่อเสียงในด้านนี้คือ ฟีโนมีนา และแมชชิ่ง สตูดิโอ

  • Advertising Graphic Designer คือ นักออกแบบกราฟิกประเภทนี้มักจะสิงอยู่ในAdvertising Agency ซึ่งแผนกต้นสังกัดจะเท่ห์มากคือ แผนกครีเอทีฟ Advertising Graphic Designer จะเป็นนักออกแบบที่ต้องอยู่กับสินค้านานาชนิด ทำงานออกแบบได้หลายประเภททั้งสิ่งพิมพ์ บิลบอร์ด แพคเกจ โปรแกรมหลักๆที่ ต้องทำได้ทำคล่องคือ Illustrator และ Photoshop (เดี๋ยวนี้ถ้าสามารถทำ 3DMax ได้ด้วยจะเป็นการดีมาก) ในเอเยนซี่ใหญ่ๆอย่าง Ogilvy (คนที่อยากทำงานในวงการโฆษณาควรอย่างยิ่งที่จะทำความรู้จักเอเยนซี่ดังๆไว้ให้มาก ถ้าไม่รู้จักก็ไปทำความรู้จักใน Google ซะนะคะ ก่อนจะไปปล่อยไก่ตอนสมัครงาน) การทำงานโดยส่วนใหญ่นั้นมักจะทำควบคู่กับ Art Director [AD] คือ ​AD คิด และ Graphic ทำออกมาตามที่คิด ส่วนในเอเยนซี่เล็กๆ 2 ตำแหน่งนี้จะทำหน้าที่รวมกันเป็น 1 คือ คิดเองแล้วทำ (ซะ) ด้วย (ซึ่งเป็นลักษณะเอเยนซี่ที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดในสมัยนี้)
    การทำงานในบริษัทโฆษณามีแรงจูงใจที่ดีมาก 2 ประการคือ เงินดี และมีถ้วย คือ มีเวทีให้ทำงานประกวดมากมาย (ทั้ง AD และ Graphic) ถ้าฝีมือดีๆ ได้รางวัลจาก Cannes ก็ยิ่งเป็นที่ต้องการ สามารถที่จะ Up เงินเดือน* แบบข้ามขั้นทีเดียวนะ (*ขึ้นอยู่กับนโยบายบริษัท) คนที่เป็น Graphic ที่แม่นๆเรื่อง Concept หรือมีไอเดียบรรเจิดจะสามารถเปลี่ยนไปสู่ตำแหน่ง AD ได้ไม่ยาก

  • Graphic Designer / Artist ประจำ Graphic House นักออกแบบประจำ Graphic House จะมีลักษณะการทำงานคล้ายเอเยนซี่แต่ไม่มี AD มาเกะกะระราน (เขียนเวอร์ไปงั้นแหละน่า เดี๋ยวจะโดนบรรดา AD มารุมด่าเอา) ทำงานตามใจฉัน ลักษณะงานจะ Freeform มากกว่าทำงานใน Advertising Agency คือ สามารถทำงาน Art มันส์ๆ แปลกแหวกแนวได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่อง Format บังคับ หรือ Coperate Identity ของลูกค้ามากนัก (เช่น โลโก้ต้องอยู่มุมบนซ้าย พื้นขาว ห่างจากขอบ 2 นิ้ว โดยมี Space ว่างๆ รอบโลโก้ไม่น้อยกว่า 2 นิ้ว ฯลฯ) นักออกแบบประจำนิตยสารก็จัดอยู่ในประเภทนี้เช่นกัน
  • Graphic Designer ประจำบริษัท หรือหน่วยงานต่างๆ เรียกอีกอย่างว่า In-House เป็นนักออกแบบที่มีสังกัดแน่ชัด องค์กรใดองค์กรหนึ่ง แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง หรือเครือใดเครือหนึ่ง อันนี้จะค่อนข้างโฟกัสงานไปเลย ไม่มีความหลากหลายแต่ข้อดีคือ ไม่สับสน ทุ่มเทคิดถึง Product ตัวเองเพียวๆไปเลย คนที่เลือกทำกราฟิกในลักษณะเป็น In-House นั้นควรจะเป็นคนที่ไม่ชอบความหลากหลาย เพราะเมื่อเป็น In-House ให้กับที่ไหนก็จะต้องวนเวียนออกแบบสิ่งนั้นไปตลอด อาจจะเปลี่ยนสื่อหรือเปลื่ยนการออกแบบ แต่ก็ไม่หนี Product เดิมๆ เช่น เป็น In-House ให้กับยาหม่อง ก็ต้องทำแต่ยาหม่องไปเรื่อยๆ อาจจะเป็นกล่องยาหม่อง โฆษณายาหม่องในหนังสือพิมพ์ ยาหม่องในแมกกาซีน ยาหม่องในเว็บ แต่ก็ยังคงเป็นยาหม่องตลอดเวลา (เข้าใจป่าวเนี่ย?) ไม่เหมาะเป็นอย่างยิ่งกับบางคนที่ไม่ชอบทำงานแบบเดิมซ้ำๆ กันเพราะจะเบื่อและพาลอยากเปลี่ยนงานเป็นที่เดือดร้อนของบริษัทไปซะอีก
  • Art Director เป็นนักออกแบบประเภทนักคิด ไม่จำเป็นต้องเก่งด้านโปรแกรมออกแบบ*มากก็ได้ (*ในบางบริษัทนะ) แต่ ต้อง แม่นเรื่อง Concept และมีความคิดแหวกแนว โดดเด่น คิดนอกกรอบ ชอบคิดค้นหาไอเดียใหม่ๆมานำเสนอตลอดเวลา มักอาศัยอยู่ใน Advertising Agency โดยแบ่งความรับผิดชอบด้านไอเดียออกไปทำควบคู่กับ Copy Writer (แปลตรงตัวเลย - คนเขียนคำโฆษณา) เสร็จแล้วจึงส่งต่อให้ Graphic Designer นำเสนอ Visual / Lay-Out หรือเขียน Story Board (สำหรับงาน TVC) ต่อไป

  • Environmental Graphic Designer นักออกแบบกราฟิกในนิทรรศการและบูท รวมถึงการออกแบบตกแต่งภายใน-ภายนอกห้างหรืออาคารต่างๆ (นอกเรื่อง-อันนี้ก็เคยทำมาก่อนเข้าวงการโฆษณา) นักออกแบบประเภทนี้ควรอย่างยิ่งที่จะมีความรู้ด้านวัตถุสามมิติ Interior Design Booth ด้วย ผู้ที่สนใจสามารถเลือกเรียนโดยตรงที่คณะศิลปกรรม จุฬาลงกรณ์ฯ ภาควิชานิทรรศการศิลป์
  • Illustrator / Digital Artist นักออกแบบภาพประกอบ (ทั้งหนังสือ นิยาย นิตยสาร) ใช่แล้ว! นักออกแบบภาพประกอบโดยส่วนใหญ่มักจะมีคาแรคเตอร์ภาพเป็นของตัวเอง มีสไตล์ ทักษะและเทคนิคที่โดดเด่นมากพอจึงจะมีงานต่อเนื่อง ลักษณะการทำงานจะทำแบบศิลปิน ไม่สังกัดบริษัท ไม่มีเวลาและสถานที่ทำงานแน่ชัด อาจจะไปนั่งสตาร์บัคส์แล้ววาดก็ได้ตามสะดวก ผู้มีใจรักงานด้านนี้ควรจะมีใจรับผิดชอบต่องานและตรงต่อเวลาเป็นที่ตั้งด้วย

  • Visualizer / Digital Artist นักออกแบบประเภทตกแต่งภาพ (Retouch) จะทำงานตามที่กราฟิกหรือ AD กำหนดมาซะเป็นส่วนใหญ่ ลักษณะงานมีทั้งโปสเตอร์หนัง ภาพประกอบหนังสือ ภาพคนหรือแม้แต่ภาพโฆษณา โดยจะต้องมีความสามารถด้านโปรแกรม Photoshop ในระดับโครตเซียน (เหนือกว่าระดับคนทำ Graphic Design ทั่วไป) จะต้องสามารถสร้างภาพจากอากาศธาตุได้ เก็บรายละเอียดเนี้ยบ คนทำงานประเภทนี้ได้ค่าตอบแทนจะสูงมาก คิดเป็นภาพต่อภาพเลยทีเดียว (ที่ออฟฟิศจ้างรีทัชตกภาพละเกือบหมื่นเชียวนะ) แต่อาจจะต้องแลกกับการอดหลับอดนอน บริษัทที่มีชื่อเสียงด้านนี้คือ Illusion, remix , Zone Retouch เป็นต้น

  • Freelance Designer นักออกแบบอิสระ มี 2 ประเภทคือ ทำเป็น Freelance จริงๆกับคนที่รับทำเป็นรายได้เสริมจากเวลางานประจำ (เรียกง่ายๆว่า "ฝิ่น") แบบหลังจะเหมาะสำหรับคนที่อึดจริงๆเท่านั้น เพราะจะต้องทำงานต่อเนื่องหลังเลิกงานประจำและอดหลับอดนอน (นี่ก็ประสบการณ์ตรง--คอนเฟิร์มเลยว่า 1.ต้องอึดจริงๆ 2.แฟนต้องเข้าใจหากไม่มีเวลาให้ ) ซึ่งอันนี้เป็นข้อได้เปรียบของคนที่ทำงานสายอาชีพนี้ กล่าวคือ สามารถทำงานคนเดียวได้ รับจ๊อบได้ เพราะมี Skill ที่ทำเงินได้ติดตัวตลอดเวลา
    ดังนั้นจึงถือได้ว่า งานด้านนี้มีรายได้ดีทีเดียว แต่ข้อเสียคือ ถ้าไม่พัฒนาตัวเอง ไม่แม่นซักเรื่องก็โดนสอยร่วงเอาง่ายๆเหมือนกัน เพราะเด็กใหม่ไฟแรงเกิดขึ้นทุกวัน ที่สำคัญ เก่งๆกันทั้งนั้นซะด้วย !
  • ฝากสุดท้าย...สำหรับการทำงานด้านออกแบบนั้น ต้องเข้าใจว่า "สวย" ของแต่ละคนนั้นให้นิยามไม่เหมือนกัน ความเข้าใจและความต้องการของลูกค้าก็สามารถทำให้การออกแบบไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด เพื่อนร่วมงาน (ในกรณีที่มี) แต่ละคนก็จะมี EGO มากมาย ของกูดี ของกูเริ่ด ความคิดกูดีกว่า ของกูนำเสนอได้ดีกว่า กูเก๋าเกมส์กว่า ฯลฯ เยอะแยะมากมาย อย่าคิดว่าทำอะไรไปแล้วจะผ่าน จะโอเคง่ายๆ จบงานง่ายๆ เปล่าเลย มีองค์ประกอบมากมายที่ทำได้แม้กระทั่ง "รื้อ"งานคุณ "ทิ้ง" ทั้งหมด! (ซึ่งกรณีนี้จะทำให้ Designer จะรู้สึก Fail มาก) และด้วยเหตุนี้เอง เมื่อคุณสมัครงาน จึงมักจะมีคำถามว่า "คุณสามารถทำงานภายใต้แรงกดดันได้หรือไม่?" และในกรณีที่คุณสมัครงานตำแหน่ง Advertising Graphic Designer บางที่จะมีคำถามเพิ่มเติมว่า "คุณสามารถรับ คำสั่ง หรือสามารถสร้างงานภายใต้การควบคุมของ AD ได้หรือไม่" ทั้งนี้เพราะบริษัทจะเข้าใจถึง EGO ที่มีในทุกคนนั่นเอง กล่าวคือ AD ก็ต้องได้อย่างใจคิด ถ้าไม่ได้ก็จะด่า จะโมโห โวยวาย (จริงๆนะ) ส่วน Graphic ก็อยากวาดลวดลายออกแบบตามใจฉัน พอโดน "สั่งแบบนั้นแบบนี้" ก็จะไม่พอใจ โมโหและทำงานออกมาได้ไม่ดี ก่อให้เกิดผลเสียทั้งสิ้น บางบริษัทจึงต้องตั้งคำถามนี้ไว้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง
    ตกลง "คุณอยากทำงานอะไร?" ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น